บทเรียนจากยุค Stagflation ปี 1970-1983

ผมอ่านตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกตอนอายุ 15 ปีในปี 1972 เป็นช่วงที่เงินเฟ้อกำลังเริ่มเร่งตัวในโลก แต่ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นใช้เวลา “ฟูมฟักตัว” นานกว่านั้นมาก

 

เศรษฐศาสตร์

“Practical men who believe themselves to be quite exempt from any intellectual influence, are usually the slaves of some defunct economist.” (John Maynard Keynes)
ผมจะต้องขอเท้าความกลับไปอีก ประมาณ 20 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่นโยบายเศรษฐกิจมหภาคสืบทอดแนวคิดของทฤษฎีของ John Maynard Keynes ว่านโยบายการเงินและการคลังมีภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการควบคุมให้อุปสงค์โดยรวม (aggregate demand) ของเศรษฐกิจมีความสมดุล มีเสถียรภาพและทำให้มีการจ้างงานเต็มศักยภาพ

นักเศรษฐศาสตร์สมัยนั้นเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะต้องควบคุมให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนที่ระดับใกล้เคียงกับศักยภาพ (full employment) รัฐสภาสหรัฐผ่านกฎหมาย Employment Act of 1946 ซึ่งระบุว่าภาครัฐต้องบริหารเศรษฐกิจให้มีคนตกงานน้อยที่สุด
ซึ่งต่อมาก็มีทฤษฎีที่ใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายดังกล่าวที่เรียกว่า Phillips Curve ซึ่งเป็นการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงานกับระดับเงินเฟ้อโดยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์พบว่า หากต้องการอัตราว่างงานที่ต่ำก็จำต้องยอมรับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และในทางกลับกันหากเงินเฟ้อต่ำก็จะต้องยอมรับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น
เช่น หากเงินเฟ้อ 2% ก็ต้องยอมรับอัตราการว่างงานที่ 8% แต่หากผลักดันให้อัตราการว่างงานลดลงเป็น 5% ก็ต้องยอมรับเงินเฟ้อที่ 6% เป็นต้น