สื่อมะกันชี้ EU เริ่มเคือง! มองสหรัฐฯ ‘ได้ประโยชน์เต็มๆ’ จากสงครามยูเครน

เว็บไซต์ Politico ซึ่งเป็นสื่อการเมืองชื่อดังของสหรัฐฯ อ้างแหล่งข่าวซึ่งระบุว่า เวลานี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู)

หลายคนเริ่ม “ไม่พอใจ” รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน เนื่องจากมองว่าวอชิงตันเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จากสงครามในยูเครน ขณะที่ยุโรปกลับต้องเผชิญพิษเศรษฐกิจหนักหน่วง ทั้งภาวะขาดแคลนก๊าซ และราคาข้าวของที่พุ่งสูงขึ้น

เจ้าหน้าที่ระดับสูงอียูคนหนึ่งบอกกับ Politico ว่า สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนมากที่สุด “เพราะทำให้พวกเขาส่งออกก๊าซได้มากขึ้นและในราคาที่สูงขึ้น แถมยังขายอาวุธได้มากขึ้นด้วย”

สัญญาณรอยร้าวระหว่าง 2 ฟากแอตแลนติกมีที่มาจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการคว่ำบาตรที่ชาติตะวันตกใช้กับมอสโก ซึ่งทำให้การลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าสู่ยุโรปต้องหยุดชะงัก และเวลานี้อียูต้องหันไปพึ่งพิงก๊าซนำเข้าจากอเมริกาซึ่งราคาสูงกว่าที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ถึง 4 เท่าตัว

ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสเคยออกมาวิจารณ์แนวปฏิบัติเช่นนี้ว่า “ไม่เป็นมิตร” แต่กระนั้นตามที แหล่งข่าวของ Politico ให้ข้อมูลว่า เมื่อถูกผู้นำอียูตั้งคำถามเรื่องนี้ระหว่างการประชุมซัมมิต G20 ผู้นำสหรัฐฯ กลับ “ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้”

อีกหนึ่งปมปัญหาที่ทำให้อียูไม่พอใจก็คือกฎหมาย US Inflation Reduction Act ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นการเติบโตที่สหรัฐฯ จะให้เงินอุดหนุนและสิทธิยกเว้นภาษีแก่ภาคธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่บรัสเซลส์เกรงว่ามาตรการนี้อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของอียู เนื่องจากจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกันมีความได้เปรียบค่ายยานยนต์ของยุโรปในตลาดสหรัฐฯ

เจ้าหน้าที่อียูยอมรับกับ Politico ว่า “เรากำลังเดินมาถึงทางแยกที่สำคัญ” เพราะข้อขัดแย้งเหล่านี้อาจกัดเซาะความพยายามของโลกตะวันตกในการที่จะสนับสนุนยูเครน รวมไปถึงความเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 ฟากฝั่งแอตแลนติกด้วย

“อเมริกาจำเป็นต้องตระหนักว่า ความคิดเห็นของสาธารณชนในหลายๆ ประเทศอียูกำลังเปลี่ยนไป” เขาเตือน

หลายประเทศในยุโรปยังรู้สึกขุ่นเคืองที่การสนับสนุนช่วยเหลือยูเครนทำให้มีเม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมอาวุธของสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า อียูอาจต้องใช้เวลาอีก “หลายปี” กว่าจะเติมเต็มคลังแสงของตนเองกลับสู่ระดับเดิม ซึ่งเท่ากับว่าสหรัฐฯ ก็จะยิ่งได้ “กำไร” จากความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก

รายงานฉบับนี้มีขึ้นหลังจากที่ มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาอ้างเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ความพยายามโดดเดี่ยวมอสโก “มีแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้อียู และสุดท้ายพลเมืองยุโรปเองจะต้องควักกระเป๋าเสียค่าโง่ให้ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของพวกนักการเมือง”

“CEA” เปิดตัวโครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ”

“CEA” เปิดตัวโครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มุ่งยกระดับวิสาหกิจชุมชน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดตัวโครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่จะช่วยพัฒนายกระดับวิสาหกิจชุมชน ด้วยการใช้แพลตฟอร์มความร่วมมือเเละความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสินค้าและบริการ ดัน 3 จังหวัดต้นเเบบ ได้แก่ กระบี่ สกลนคร สมุทรปราการ มุ่งใช้สมุนไพรท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างจุดขาย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ตั้งเป้าต่อยอดโมเดลสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

เศรษฐกิจหมุนเวียน

ภายในงาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น M สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงานโดยมี ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเเละประเทศ นางสาวสกุณา สาระนันท์ สมาชิกผู้เเทนราษฏร เขต 5 จังหวัดสกลนคร และนางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สมาชิกผู้เเทนราษฏร จังหวัดกระบี่ให้เกียรติร่วมเสวนา พร้อมแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชน โดยมี ดร.ชาคริต พิชยางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำคณะผู้จัดงานให้การต้อนรับ ท่ามกลางผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนร่วมงานจำนวนมาก

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า CEA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเสนอโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้กระบวนการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ (Value Creation) ให้แก่สมุนไพรไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพและเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยของเรานั้นตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้มีความหลากหลายของพันธุ์พืชสูง ตลาดสมุนไพรไทยจึงเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในเอเชียและยุโรป ซึ่งสินทรัพย์ล้ำค่าเหล่านี้มีอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ “CEA จึงเล็งเห็นช่องทางการนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาธุรกิจ นวัตกรรม สร้างเป็นแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ที่สามารถยกระดับวิสาหกิจชุมชน สู่การเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดียิ่งขึ้นเเละการต่อยอดเชิงพาณิชย์ในตลาดท้องถิ่นเเละตลาดสากลต่อไป”

ดร.ชาคริต กล่าวต่อไปว่า CEA เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านโครงการเเละกิจกรรมในรูปเเบบต่างๆ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ” นับเป็นโครงการสร้างมูลค่าสินค้าไทยจากเศรษฐกิจท้องถิ่น (Value Creation) โดยมุ่งสร้างโมเดลต้นแบบธุรกิจสมุนไพรที่ส่งเสริมและสร้างรายได้ ขยายโอกาส รวมทั้งความยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจ ด้วยกระบวนการ Space Compass Creation:Service Journey นั่นคือ ร้อยเรียงเส้นทางสร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาสมุนไพรไทย โดยดึงจุดเเข็งและจุดขายของแต่ละท้องถิ่น พร้อมโจทย์ของตลาดนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน แล้วเพิ่มคุณค่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ตลอดจนสร้างความพิเศษให้โดดเด่นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวเฉพาะของท้องถิ่น ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เเล้วลงมือทำจริงแบบครบวงจร เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนสามารถดำเนินการต่อไปเองได้