ยกระดับการกระจายความเสี่ยงผ่านกลยุทธ์ในสกุลเงินต่างประเทศ

นักลงทุนส่วนใหญ่มักมองว่าการกระจายความเสี่ยงผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น หุ้น ตราสารหนี้ รวมทั้งทองคำ

แต่แล้ว…กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นปี 2022 ที่ไม่เพียงแต่ราคาตราสารหนี้และหุ้นปรับลงจนทำให้เกิดขาดทุนหนักในระดับสองหลัก แต่การลงทุนในทองคำที่น่าจะพยุงพอร์ตได้ก็ขาดทุนเช่นกัน แม้ภาวะตลาดทุนเช่นปี 2022 จะเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ก็สะท้อนว่าการเฟ้นหากลยุทธ์หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตลงทุนมีความสำคัญมาก

เริ่มต้นปีนี้ แม้ภาพรวมจะดูดีขึ้น เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่อาจวางใจได้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีท่าทีว่าจะแข็งแรงกว่าที่ประเมินไว้ ล่าสุด การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนตำแหน่ง

อัตราการว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 53 ปี และค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนตลาดแรงงานที่ยังร้อนแรง ด้านยอดค้าปลีกเดือนมกราคมก็ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่ามีโอกาสที่สหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยเลย (No Landing)

เศรษฐกิจที่แข็งแรงก็เหมือนดาบสองคม เพราะแม้จะเป็นข่าวดีให้คลายกังวลเรื่องภาวะถดถอย แต่อาจทำให้ FED ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการ FED หลายท่านก็ออกมาย้ำว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อลดลงเข้าใกล้เป้าหมาย ล่าสุด ตลาดประเมินว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ไปทำระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% มากกว่า FED Dot Plot เดือนธันวาคมที่ 5.00-5.25%

ข่าวการเงิน

ส่งแรงกระเพื่อมไปทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับเกิน 3.90% หลังจากที่ปรับลงแตะระดับราว 3.40% เมื่อช่วงต้นปี ด้านหุ้นโลกก็ปรับฐานลงจากจุดสูงสุดราว 4% (ณ 22 กุมภาพันธ์ 2023)

สินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ยังไม่แพร่หลายในบรรดานักลงทุนบุคคลมากนักคือ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ โดยนักลงทุนสามารถจับคู่สกุลเงินเพื่อซื้อหรือขายสัญญาฟิวเจอร์สได้ นอกจากโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นคือ การเปลี่ยนเปลงของค่าเงินมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงราคาของสินทรัพย์อื่นค่อนข้างต่ำ เพราะหลายปัจจัยที่ขับเคลื่อนค่าเงินแตกต่างจากปัจจัยที่ส่งผลต่อผลตอบแทนในสินทรัพย์อื่น กลยุทธ์การลงทุนในเงินตราต่างประเทศจึงช่วยยกระดับการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และโภคภัณฑ์ เคลื่อนไหวในทางเดียวกัน ดังเช่นปีที่แล้ว ที่แม้ราคาสินทรัพย์หลักส่วนใหญ่ปรับตัวลง แต่การลงทุนในสกุลเงินกลับให้ผลตอบแทนได้โดดเด่น

ดอลลาร์สหรัฐคือสกุลเงินหลักที่มักถูกนำไปจับคู่มากที่สุด และการจับคู่ซื้อขายสกุลเงินที่สร้างผลงานดีในปีที่แล้ว ได้แก่ การซื้อ Brazilian Real ของบราซิล และ Mexican Peso ของเม็กซิโก ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือการขายเงินเยนของญี่ปุ่น และเงินปอนด์ของอังกฤษ ที่อ่อนค่าลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้นการวิเคราะห์และเลือกซื้อสกุลเงินที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก และ/หรือ ขายสกุลเงินที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนเป็นลบจึงสามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการลงทุนในสกุลเงินมีมากกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดั้งเดิม เพราะการเปลี่ยนแปลงของสกุลเงินขึ้นกับหลายปัจจัย ไม่เพียงแต่ปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แต่รวมถึงกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก สถานะการเก็งกำไร อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน

ตลอดจนนโยบายการแทรกแซงค่าเงินจากหน่วยงานกลางของแต่ละประเทศ กลยุทธ์ที่มีความซับซ้อนเช่นนี้ ต้องอาศัยทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และมีประสบการณ์ยาวนาน และที่สำคัญคือต้องบริหารเชิงรุก ติดตามผลการดำเนินงานรายวัน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนสถานะการลงทุน รวมทั้งคู่สกุลเงิน เพื่อให้ทันกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง

จากความผันผวนที่ยังมีอยู่เสมอในโลกการลงทุน การกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์นอกเหนือไปจากสินทรัพย์แบบดั้งเดิม จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างขุมทรัพย์ลงทุนระยะยาว แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> ธนาคารกรุงศรีฯ ประกาศแผนธุรกิจปี 66 เน้นความยั่งยืน ต่อยอดด้านนวัตกรรม

ธนาคารกรุงศรีฯ ประกาศแผนธุรกิจปี 66 เน้นความยั่งยืน ต่อยอดด้านนวัตกรรม

ธนาคารกรุงศรี มุ่งสู่อาเซียน ประกาศแผนธุรกิจปี 66 เน้นความยั่งยืน พร้อมต่อยอดด้านนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าทั้งในประเทศไทย และอาเซียน

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีสุดท้ายของแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน หากย้อนกลับไปจะเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น เรื่องของการเชื่อมโยงโครงข่ายในอาเซียนสู่ตลาดหลักๆ ในภูมิภาค การเติบโตอย่างแข็งแกร่งแม้ในช่วงท้าทายของสถานการณ์การระบาดของโควิด

โดยความยืดหยุ่นในการปรับตัว และพัฒนาการที่สำคัญสู่เป้าหมายด้าน ESG สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2564-2565 ที่เราเชื่อมั่นว่า จะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งให้กรุงศรีฯ สามารถเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนเพื่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

ในปี 2566 นี้ จะเป็นปีที่ทุกคนจะได้เห็นการยกระดับตำแหน่งของกรุงศรีฯ ในอาเซียน ในการดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ESG และในการต่อยอดความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อการเติบโตของธุรกิจ

นายเซอิจิโระ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2566 ถือเป็นปีที่ท้าทายจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลัก กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลจากการเปิดประเทศของจีนที่ยังคงไม่ชัดเจนนัก แต่อุปสงค์ในภาคบริการน่าจะเติบโตเร็วขึ้นกว่าอุปสงค์ต่อสินค้า การเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนชะลอตัวลงอยู่ที่ 4.9% ในปี 2566 จาก 5.3% ในปี 2565 แต่ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด

นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีการเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีที่รวมถึง RCEP และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามา

ด้วยกลยุทธ์ของกรุงศรีฯ เราหวังที่จะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ และจะอาศัยข้อได้เปรียบจากโอกาสต่างๆ ที่มีในอาเซียน โดยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และเสนอโซลูชันที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าธุรกิจ และลูกค้ารายย่อยทั่วภูมิภาค

กรุงศรีฯ คาดว่าในปี 2566 เงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%

การเงิน-ธนาคารกรุงศรีฯ

ทั้งนี้ กรุงศรีฯ มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็น สถาบันการเงินไทยที่เป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า พร้อมเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ผ่าน กลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) ผ่านนวัตกรรมบริการด้านการเงิน

การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business) เพื่อเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทย รวมถึงการเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจการเงินเพื่อความยั่งยืน และการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) ด้วยการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อลูกค้าทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

อ่านข่าวเพิ่มเติม : หากถูกธนาคารปฏิเสธให้กู้เงินอ้าง ติดเครดิตบูโร ต้องทำอย่างไร?

หากถูกธนาคารปฏิเสธให้กู้เงินอ้าง ติดเครดิตบูโร ต้องทำอย่างไร?

หากถูกธนาคารปฏิเสธให้กู้เงินโดยอ้างว่าติดเครดิตบูโร

สามารถขอตรวจเครดิตบูโรได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ภายใน 30 วัน นับจากวันที่หนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ทำให้ประชาชนประสบปัญหาภาระหนี้สินและต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นตัวได้ จึงมีจำนวนการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรมากเพิ่มขึ้น ซึ่งหากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกมีเหตุให้ต้องปฏิเสธการให้สินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าเป็นเพราะเครดิตบูโรนั้น ตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ได้กำหนดการคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูล (ตัวท่าน) ที่คุ้มครองดูแลประชาชน

ดังนั้น เมื่อถูกปฏิเสธ/ไม่ให้สินเชื่อ โดยมีการอ้างว่าเป็นเพราะ “เครดิตบูโร” เพียงนำหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกมาแสดงหลักฐาน พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของตนเอง สามารถตรวจเครดิตบูโรฟรี! ได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรทุกแห่ง ภายใน 30 วันนับจากวันที่ในหนังสือแจ้งปฏิเสธสินเชื่อ

ทั้งนี้ การพิจารณาสินเชื่อเป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ หรือนโยบายสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินในขณะนั้น ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ข้อมูลเครดิตเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการนำไปประกอบการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น นอกเหนือจากข้อมูลจากแหล่งอื่น ที่สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณา เช่น รายได้ รายจ่าย อาชีพ ประวัติการออม อายุงาน หรือ หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น

หากปรากฏว่าสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัทได้ปฏิเสธสินเชื่อแก่ลูกค้าโดยเหตุเพราะการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัท สถาบันการเงินแห่งนั้นจะต้องมีหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้แก่ลูกค้า พร้อมแจ้งที่อยู่ของบริษัทข้อมูลเครดิตที่เป็นสถาบันการเงินที่ใช้ตรวจสอบข้อมูล และท่านสามารถนำหนังสือปฏิเสธสินเชื่อที่ได้จากสถาบันการเงินไปขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตนเองได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ท่านสามารถนำหลักฐานมาแสดงเพื่อยื่นตรวจเครดิตบูโรได้ที่

วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-16.30 น.
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (โซนพลาซา) (อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พระราม 9 และอยู่ด้านหลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9)
วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 9.00-18.00 น.
เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (โซนธนาคาร) (BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1)
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี)
Bureau Lab (บูโรแล็บ) ท่าเรือวังหลัง (บริเวณทางเข้า-ออก ท่าเรือ และใกล้ประตู 8 ของโรงพยาบาลศิริราช)
วันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00-18.00 น.
Bureau Lab (บูโรแล็บ) สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (ภายในสถานี)
ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม
นอกจากนี้ ท่านสามารถใช้บริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป (ฟรี) ที่สะดวกสบาย รวดเร็วหลากหลาย

สำหรับข้อมูลเครดิตแบบสรุป จะประกอบด้วยข้อมูลจำนวนบัญชีสินเชื่อ ที่จะแสดงจำนวนบัญชีทั้งหมด บัญชีที่เปิดอยู่ บัญชีที่ปิดแล้ว วงเงินสินเชื่อรวม และยอดหนี้คงเหลือรวม รวมทั้งจะมีประเภทบัญชีสินเชื่อ ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บ้าน เช่าซื้อ อื่น ๆ และยอดหนี้คงเหลือแต่ละประเภทบัญชีอีกด้วย

ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเครดิตแบบสรุป เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับเจ้าของข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ เพื่อตรวจสอบจำนวนบัญชีสินเชื่อ และยอดหนี้ที่ถูกจัดเก็บไว้ในเครดิตบูโรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปอ้างอิงต่อบุคคลใดได้ กรณีที่ท่านตรวจข้อมูลเครดิตของตนเองผ่านช่องทางต่างๆ ที่เครดิตบูโรให้บริการนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้งก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาขอสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลเครดิตของตนเอง

ข่าวอื่นๆ “CEA” เปิดตัวโครงการ “HERB TO GO สมุนไพรไทยพร้อมไปต่อ”